การสวดมนต์เพื่อสร้างบารมี10ทัศ

ในเรื่อง "การสวดมนต์" หากพิจารณาในหัวข้อธรรม บารมี 10 ทัศนั้น   เพียง แค่สวดมนต์ไม่กี่นาที และสิ่งเหล่านี้ก็จะสะสมในใจเราทีละน้อย เหมือนกับเราเก็บเงินวันละ บาท 10 วันก็ได้ 10 บาท แต่ถ้าเราไม่ทำอะไร เราก็จะไม่ได้อะไรเลย แล้วเงินที่เราหยอดทุกวัน ที่ได้จากการสวดมนต์ ก็เหมือนเราตักบาตรทุกวัน โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เมื่อมีโอกาศเข้าวัด หรือจะไปทำบุญตามสถานที่ต่างๆ เราก็นำเงินนั้นแหละไปทำบุญ หยอดตู้ ใส่ซอง ทำให้จิตของเราติดอยู่กับบุญกุศล ทุกวัน

บารมีครบถ้วน 10 ประการมีดังนี้


1. ทานบารมีี = ขณะที่เราสวดมนต์เสร็จ เราทำทานคือเอาเงินที่จบใส่ใน กระปุกออมสิน หรืออื่นๆ เป็น ทานบารมี

2. ศีลบารมี = ขณะที่เราสวดมนต์อยู่ในขณะนั้นเราไม่ได้ทำบาปกรรมกับใคร มีศีลอยู่ในขณะที่สวดมี ศีลบารมี

3. เนกขัมมบารมี = ขณะที่เราสวดมนต์อยู่ จิตของเราปราศจาก นิวรณ์มารบกวนจิตใจ ถือว่าเป็นการบวชใจ ถือว่าเป็น เนกขัมมบารมี

4. ปัญญาบารมี = การสวดมนต์ทำด้วยความศรัทธา ทำด้วยปัญญาที่เห็นว่ามันเป็นประโยชน์ช่วยฝึกฝนให้เกิดสติ มีสมาธิเป็น ปัญญาบารมี

5. วิริยะบารมี = ถ้าเราไม่มีความเพียร เราก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นความเพียรเป็น วิริยะบารมี

6. ขันติบารมี= มีความเพียรแล้ว ไม่มีความอดทน ความเพียรก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องมีความอดทน ความอดทนเป็น ขันติบารมี

7. สัจจะบารมี = มีความเพียร มีความอดทนแล้ว และมีความจริงใจในการประพฤติปฏิบัติ ซึ่งความจริงใจคือ สัจจะบารมี

8. อธิษฐานบารมี = เมื่อเราสวดมนต์เสร็จ ทำสมาธิ ตั้งจิตอธิฐาน การอธิฐานเป็น อธิษฐานบารมี

9. เมตตาบารมี = ใส่บาตร สวดมนต์เสร็จ ก็ต้องแผ่เมตตา อุทิศส่วนกุศล การแผ่เมตตาเป็น เมตตาบารมี

10. อุเบกขาบารมี = ขณะที่แผ่เมตตา เราต้องทำใจของเราให้มีเมตตา ต่อสัตว์ทั้งหลาย ทำใจให้เป็นพรหมวิหาร 4 อุเบกขา วางเฉย อโหสิกรรม กับบุคคลที่เราเคยล่วงเกินกันมา ไม่โกรธใคร ไม่เกลียดใคร ไม่ชอบใคร ไม่ชังใคร ทำใจให้นิ่ง ทำจิตให้สงบ วางใจให้เป็นอุเบกขา เป็น อุเบกขาบารมี




สาราณียธรรม 6

 สาราณียธรรม3 หมายถึง ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน ถือว่าเป็นธรรมที่เป็นพลังในการสร้างความสามัคคี มีอยู่ 6 ข้อ คือ
   1.  กายกรรมอันประกอบด้วยเมตตา คือ การกระทำทางกายที่ประกอบด้วยเมตตา เช่นการให้การอนุเคราะห์ ช่วยเหลือและเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น ไม่รังแกทำร้ายผู้อื่น
   2.  วจีกรรมอันประกอบด้วยเมตตา คือ การมีวาจาที่ดี สุภาพ อ่อนหวาน พูดมีเหตุผล ไม่พูดให้ร้ายผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
   3.  มโนกรรมอันประกอบด้วยเมตตา คือ ความคิดที่ประกอบด้วยเมตตาทั้งต่อหน้าและลับหลัง เป็นการคิดดีต่อกันไม่คิดอิจฉาริษยาหรือไม่คิดมุ่งร้ายพยาบาท หากทุกคนคิดแล้วปฏิบัติเหมือนกันความสามัคคีก็จะเกิดขึ้นในสังคม
   4.  สาธารณโภคี คือ การรู้จักแบ่งสิ่งของให้กันและกันตามโอกาสอันควร เพื่อแสดงความรักความหวังดีของผู้ที่อยู่ในสังคมเดียวกัน
   5.  สีลสามัญญตา คือ ความรักใคร่สามัคคี รักษาศีลอย่างเคร่งครัดเหมาะสมตามสถานะของตน มีความประพฤติสุจริตปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของหมู่คณะ ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น
   6.  ทิฏฐิสามัญญตา คือ การมีความเห็นร่วมกัน ไม่เห็นแก่ตัว รู้จักเคารพและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ร่วมมือร่วมใจในการสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสงบ
   ธรรม 6 ประการ ที่ผู้ใดได้ประพฤติจะเกิดความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  เกื้อกูลกันไม่ทะเลาะวิวาทกัน  อันจะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความรักความสามัคคีกันตลอดไป


ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4

ทิฏฐธัมมิกัตถะ เป็นข้อปฏิบัติสำคัญที่ทำให้เกิดผล คือ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำให้มีทรัพย์สินเงินทอง พึ่งตนเองได้ เรียกว่าธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบัน บางทีเรียกว่า “หัวใจเศรษฐี” โดยมีคำย่อคือ “อุ” “อา” “กะ” “สะ” ดังนี้คือ

1. อุฏฐานะสัมปทา (อุ) หมายถึง การถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร รู้จักใช้ปัญญาไตร่ตรองพิจารณาหาวิธีการที่แยบคายในการทำงาน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักคิด รู้จักทำ รู้จักดำเนินการด้านเศรษฐกิจ ทำการงานประกอบอาชีพให้ได้ผลดี

2. อารักขสัมปทา (อา) หมายถึง การถึงพร้อมด้วยการรักษา สามารถปกป้องคุ้มครองรักษาทรัพย์สินที่หามาได้ ไม่ให้สูญหายพินาศไปด้วยภัยต่าง ๆ

3. กัลยาณมิตตตา (กะ) หมายถึง การรู้จักคบคนดีหรือมีกัลยาณมิตร ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ช่วยให้เจริญก้าวหน้าในวงการอาชีพนั้น ๆ ทำให้รู้เห็นช่องทางและโอกาสต่าง ๆ ในการงาน ทันต่อเหตุการณ์ ตลอดจนรู้จักปฏิบัติต่อทรัพย์ของตนอย่างถูกต้อง ไม่ถูกมิตรชั่วชักจูงไปในทางอบายมุข ซึ่งจะทำให้ทรัพย์สินไม่เพิ่มพูนหรือมีแต่จะหดหายไป

4. สมชีวิตา (สะ) หมายถึง ความเป็นอยู่พอดี หรือความเป็นอยู่สมดุล คือเลี้ยงชีพแต่พอดี ไม่ให้ฟุ่มเฟือย ไม่ให้ฝืดเคือง ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีเหลือเก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น



รู้จักวิธีคิด.....ชีวิตเป็นสุข....(วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ )

พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนว่า การศึกษาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมนุษย์รู้จักคิด วิเคราะห์ วิจารณ์อย่างรอบคอบและรอบด้าน จึงจะทำให้เกิดปัญญาแตกฉาน เรียกว่า โยนิโสมนสิการ โดยวิธีการคิดแบบโยนิโสมนสิการมี 10 วิธีด้วยกัน  คือ

1. วิธีคิดแบบคุณค่าแท้และคุณค่าเทียม : ไม่ติดในรูปร่างภายนอกของวัตถุ เมื่อจะอุปโภคบริโภคสิ่งใดก็จะคิดถึงประโยชน์ก่อน หรือเรียกได้ว่าเสพปัจจัยด้วยคุณค่าที่แท้จริง ทำให้ไม่ตกเป็นทาสของวัตถุ

2. วิธีคิดแบบคุณโทษและทางออก : เล็งเห็นว่าทุกสิ่งมีทั้งคุณและโทษ ต้องรู้จักแยกแยะว่าคุณและโทษอยู่ตรงไหน และทางเลือกที่ดีกว่าเป็นอย่างไร

3. วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม : คิดหาประโยชน์จากเรื่องต่างๆ จากทั้งแง่ดีและแง่เสียโดยพยายามถือเอาประโยชน์ให้ได้ เช่น เรื่องของความตาย ถ้าเราคิดถึงความตายแล้วเป็นเหตุให้ทำความดีได้ ก็ถือว่าเป็นการปลุกเร้าให้มีความพยายามในการทำความดี ถือว่าเป็นการคิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม

4. วิธีคิดแบบอรรถสัมพันธ์ : เป็นการคิดแบบเชื่อมโยงหลักการกับความมุ่งหมาย อาทิ การกระทำบางอย่างไม่สำเร็จเพราะมิได้วางเป้าหมายให้ชัดเจน หรือบางครั้งเป้าหมายชัดเจนแต่การกระทำไม่สอดคล้องกันจึงไม่สำเร็จ เป็นต้น

5. วิธีคิดแบบอริยสัจ : เป็นการคิดแก้ปัญหาที่สาเหตุ การคิดแบบนี้คล้ายกับการคิดแบบวิทยาศาสตร์ คือ ต้องมีการตั้งปัญหา คิดสมมติฐาน รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาคำตอบของปัญหานั้นๆ

6. วิธีคิดแบบสืบสาวหาเหตุและปัจจัย : การคิดพิจารณาสืบค้นหาเหตุและปัจจัย ทำให้รู้ได้ว่าสิ่งที่ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกิดจากสาเหตุใด และมีปัจจัยใดที่เกี่ยวข้องบ้าง

7. วิธีคิดแบบสามัญลักษณะ : วิธีคิดแบบนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา” นั่นคือรู้ว่าสิ่งต่างๆ มีเกิดขึ้น แปรเปลี่ยน และดับสลายไป เพื่อจะได้ไม่ยึดมั่นถือมั่นและไม่เป็นทุกข์จนเกินไป 

8. วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในปัจจุบัน : คือ มีสติสัมปชัญญะ รู้ตัวอยู่ตลอด เนื่องจากการคิดแบบไม่ยอมอยู่ในปัจจุบัน (การจมอยู่กับอดีตหรือคิดล่วงหน้าไปในอนาคต) จะทำให้เกิดวิตกกังวล หรือเกิดอันตรายได้ เช่น การขับรถ ถ้าขณะขับไม่มีสติอยู่กับตัว ก็อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

9. วิธีคิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ : เป็นการคิดแบบแยกย่อยเป็นส่วนๆ เพื่อหาความสอดคล้องสัมพันธ์กันเป็นองค์รวม การคิดแบบนี้จะช่วยให้สามารถแก้ปัญหาได้ดียิ่งขึ้น เพราะไม่มองแต่ภาพรวมแต่มองลึกลงไปถึงรายละเอียดด้วย

10. วิธีคิดแบบแยกแยะประเด็น : การคิดแบบแยกแยะประเด็นมีประโยชน์มากในการดำเนินชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรารู้จักแยกแยะหน้าที่ของตนเองก็จะทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตได้เป็นอย่างดี เช่น ในฐานะที่เป็นนักเรียน ก็ควรที่จะตั้งใจศึกษาเล่าเรียน โดยแบ่งเวลาเรียนกับเวลาเล่นให้เป็น เป็นต้น





บุญกิริยาวัตถุ10

1.ทานมัย บุญที่สำเร็จด้วยการบริจากทาน
2.สีลมัย บุญที่สำเร็จด้วยการรักษาศีล
3.ภาวนามัย บุญที่สำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
4.อปจายนมัย บุญที่สำเร็จด้วยการแสดงตนเป็นคนอ่อนน้อม
5.ไวยยาวัจจมัย บุญที่สำเร็จด้วยการขวานขวายช่วยในกิจการที่ชอบ
6.ปัตติทานมัย บุญที่สำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ
7.ปัตตานุโมทนามัย บุญที่สำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ
8.ธัมมสวนมัย บุญที่สำเร็จด้วยการฟังพระสัทธรรม
9.ธัมมเทสนามัย บุญที่สำเร็จด้วยการแสดงพระธรรมเทศนา
10.ทิฏฐุชุกรรม การกระทำความรู้ความเห็นแห่งตนให้ตรง (เชื่อว่า บาป-บุญมี ,นรก-สวรรค์มี ,ชาตินี้-ชาติหน้ามี , เชื่อหลักไตรลักษณ์ อนิจจัง-ทุกข์ขัง-อนัตตา)

พระศาสดาบอกวิธีแก้ง่วงขณะบำเพ็ญเพียร

พระโมคคัลลานะ อุปสมบทแล้วได้ 7 วัน ก็ไปบำเพ็ญเพียรในที่สงบ แต่แล้วก็ถูกความง่วงเข้าครอบงำ ทำให้ไม่สามารถบำเพ็ญเพียรได้เป็นปกติ พระศาสดาจึงทรงบอกวิธีแก้ง่วงแก่พระโมคคัลลานะ
 
1. เมื่อกำลังคิดถึงสิ่งใดอยู่ ให้คิดถึงสิ่งนั้นเข้าไว้ จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
2. ถ้ายังไม่หายง่วง ให้คิดทบทวนถึงธรรมที่ได้เรียนมาแล้วอย่างละเอียด จะทำให้หายง่วงได้
3. ถ้ายังไม่หายง่วง ให้ท่องธรรมที่ได้เรียนมาดังๆ
4. ถ้ายังไม่หายง่วง ให้แยงหูทั้งสองข้าง แล้วใช้ฝ่ามือลูบไปตามตัว
5. ถ้ายังไม่หายง่วง ให้ลุกขึ้นแล้วลูบหน้าด้วยน้ำ และเหลียวไปรอบๆ หรือ แหงนหน้าขึ้น จะทำให้หายง่วงได้
6. ถ้ายังไม่หายง่วง ให้นึกว่านี่เป็นเวลากลางวันที่มีแสงอาทิตย์ สว่างไสวไปหมด จะทำให้หายง่วงได้
7. ถ้ายังไม่หายง่วง ให้ลุกขึ้นเดินจงกรม เพื่อให้จิตมีสติรู้เท่าทันการเคลื่อนไหว
8. ถ้ายังไม่หายง่วง ให้นอนในท่าสีหไสยา คือ ตะแคงขวา ตั้งสติว่าจะตื่นอยู่เสมอ และจะไม่ยินดีกับการนอน หรือ  การเคลิ้มหลับ จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้