คำถาม:กราบนมัสการพระเดชพระคุณหลวงพ่อครับ กระผมมีความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการทำทานในพระพุทธศาสนาว่า มีวัตถุประสงค์อย่างไร และทำได้กี่ประเภทครับ
 
ตอบ:ก่อนอื่นทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า คำว่า ทาน นั้นจริงๆแล้ว เป็นภาษาแขก ภาษาอินเดีย ภาษาไทย คือ ให้ ชัดๆลงไปนะ ทาน ก็คือ ให้
 
ทีนี้วัตถุประสงค์ของการให้ แบ่งออกได้ 4ประเภทด้วยกัน ตั้งแต่
 
ประเภทที่1.ให้เพื่ออนุเคราะห์ คือ ผู้ใหญ่ให้กับเด็ก อย่างนี้...ให้เพื่อการอนุเคราะห์
 
ส่วนประเภทที่2.ให้อีกเหมือนกัน แต่...ให้เพื่อการสงเคราะห์ คือ ใครเดือดร้อนมา คนยากจน หรือไม่ยากไม่จนหรอก แต่ว่าไฟไหม้-น้ำท่วมขึ้นมาแล้ว...มันเดือนร้อน มันก็ต้องให้ ให้แบบนี้ก็เป็นเรื่องให้ที่เขาเรียกว่า สงเคราะห์ คือ ใครตกทุกข์ได้ยาก ก็ช่วยกันล่ะนะ จะใจไม้ไส้ระกำกันได้อย่างไร มีข้าวให้ข้าว มีของให้ของ ช่วยกันคนละไม้ละมือ
 
ประเภทที่3.ก็ให้อีกเหมือนกัน แต่ว่าเป็นการให้ที่คำนึงถึงพระคุณ ที่เขาเคยหว่านมากับเรา เคยเลี้ยงดูเรามา เคยให้ความรู้เรามา เราเจ็บไข้ได้ป่วย เขาเคยหยิบยื่นมือมาช่วยเหลือเรา...คิดถึงพระคุณของเขา เราก็เลยหาทาง มีอะไรที่คิดว่าถูกใจเขา หรือเป็นประโยชน์ต่อเขา...เอาไปให้ ให้ชื่นใจกัน นี่ก็เป็นการให้ประเภทที่3
 
ถ้าประเภทที่4.ก็จะเป็นการให้เพื่อจะเอาบุญ ให้เพราะรู้ว่าการให้เป็นความดี เมื่อทำความดีด้วยการให้อย่างนี้ ผลออกมาเป็นบุญ ในพระพุทธศาสนาที่พวกเราต้องศึกษากันมาก อยู่ที่การให้ด้วยวัตถุประสงค์ที่4 นี่เอง
 
ทีนี้ การให้เพื่อให้เกิดเป็นบุญ เป็นกุศลกันขึ้นมา เป็นความดีขึ้นมา มันก็มีหลักมีเกณฑ์ของมัน คือ ไม่ใช่ให้แบบเหวี่ยงแห ให้เพราะว่ามีปัญญารู้ว่า การให้นี่มันมีผลทางด้านจิตใจ คือ อย่างน้อยมันก็ทำให้คลายความตระหนี่ คลายความหวงแหน นี่รู้ขั้นต้นรู้อย่างนี้
 
ถ้ารู้ลึกไปอีกว่า เมื่อมันคลายความตระหนี่ คลายความหวงแหนลงไปแล้ว บุญยังเกิดขึ้นในใจด้วย แล้วบุญนี้...เมื่อบุญเกิดขึ้นในใจแล้ว ยังทำให้ใจใส ใจสว่าง ใจสะอาด ขึ้นมา ตามมาอีกด้วย แต่สิ่งเหล่านี้ มันเป็นเรื่องของการให้ประเภทที่4
 
ทีนี้การให้ประเภทที่4.จึงจัดเป็นการให้ของคนที่คนที่มีปัญญา คนที่ฉลาด มองรู้ทะลุปรุโปร่งในเรื่องของบุญ เมื่อมันเป็นอย่างนี้ ก็ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบด้วย
 
คนฉลาดนั้น...ไม่ใช่ให้แบบเหวี่ยงแห มันก็ต้องคำนึงนะ เมื่อรู้ว่าการให้ทานก็มีผลเหมือนอย่างกับอะไร...รู้ว่าปลูกพืชปลูกผักแล้วมันมีผล มันก็ต้องคำนึงกันแล้ว จะปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกข้าว นี่คำนึงอะไรกันบ้างล่ะ
 
พันธุ์ข้าวที่จะเอาไปปลูกก็ต้องคำนึง
 
พื้นที่นา...ถ้ามันแล้งไป น้ำท่วมจัดไป...ไม่ได้เรื่องหรอก มันต้องพอดีๆ อย่างที่เขาเรียกว่า เนื้อนาดี
 
แล้วอันที่สาม ตัวของเราเอง...มันก็ต้องมีปัญญาด้วยนะ ถ้าโง่ๆไม่มีปัญญา พอหว่านข้าวกล้าลงไปเดี๋ยวก็ตายหมด
 
เช่นกัน รู้ว่าการทำบุญนี้...การให้ประเภทที่4...นี้ มันเป็นบุญเป็นกุศลเกิดขึ้นแล้ว คำนึงอะไร
 
ประการที่1.ประโยชน์อะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นกับเรา แล้วทำอย่างไรจะให้ประโยชน์นั้นมันสมบูรณ์ให้ได้ ซึ่งเมื่อคำนึงแล้ว เราก็พบว่าประโยชน์จะสมบูรณ์นั้น เราต้องมองทะลุปรุโปร่งอย่างที่ว่านี้ว่ามันส่งผลอย่างไร
 
ประการที่2.พันธุ์ข้าวที่ว่าเมื่อกี้ที่อุปมา คือ อะไร คือ สิ่งของที่จะเอามาทำบุญทำทานที่จะให้กันนั้น มันต้องคัดแล้วคัดอีก เอาไอ้ที่ดีๆ มันมีผลต่อไปภายหน้า พันธุ์ข้าวดีๆต้องปลูกในเนื้อนาดี ฉันใด ของดีๆจึงจะเอามาทำบุญ ฉันนั้น ของเศษๆ เดนๆ อะไรทำนองนี้ ป่วยการเอาไปทำบุญ ไม่เข้าท่าหรอก
 
ประการที่3.เนื้อนาดีเป็นอย่างไร...ผู้ที่มีความบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่ในตัวนั้นแหละ คือ  เนื้อนาบุญของเรา ใครล่ะ...ก็พระภิกษุผู้ทรงศีล ยิ่งถ้าเป็นพระภิกษุที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม...นี้ดีที่สุด ไม่อย่างนั้น ถ้าหาพระภิกษุไม่ได้ ก็ผู้ทรงศีลทรงธรรม ถ้าเขามีศีลมีธรรม ถ้าอย่างนั้นพอจะเป็นเนื้อนาบุญให้เราได้
 
ประการที่4.ตัวของเราเองนั้นก็ต้องมีความบริสุทธิ์ผุดผ่องกันทีเดียว เช่น ไม่ใช่เมาเหล้าแล้วไปทำทาน ตัวของเราต้องมีความบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่ในตัว มีศีลมีธรรมประจำใจ
 
การที่มีองค์ประกอบอย่างนี้ครบ พูดง่ายๆ ไทยธรรมก็มี เนื้อนาบุญ คือ พระภิกษุก็มี ตัวเราเองศรัทธาเต็มเปี่ยม มีสติ มีปัญญา มีความบริสุทธิ์อยู่ในตัว มองทะลุปรุโปร่งว่า การให้ทานครั้งนี้แล้วจะมีผลอย่างไรต่อไปในภายภาคหน้า ภายภาคหน้าชาตินี้หรืออนาคตข้างหน้า รวมทั้งชาติหน้า คือ ชีวิตหลังความตายของเราด้วย มองทะลุปรุโปร่งอย่างนี้แล้วก็ทำทาน อย่างนี้ล่ะได้บุญเยอะ
 
ถามว่า ทานมีกี่ประเภท คำตอบ คือ มี 3ประเภทด้วยกัน...โดยย่อนะ ได้แก่
 
1.ให้สิ่งของเป็นทาน เรียกกันว่า อามิสทาน เช่น ให้ข้าวปลาอาหาร ผ้าผ่อนท่อนสไบ เป็นต้น
 
2.ให้ความรู้เป็นทาน หรือ ธรรมทาน ให้ความรู้ ทางโลกท่านเรียกว่า วิทยาทาน ให้ความรู้ ทางธรรม ท่านเรียกว่า ธรรมทาน
 
3.ให้...อภัยทาน คือ ไม่จองเวรจองกรรมอะไรกับใคร ใครเข้าใกล้เราถือว่าปลอดภัย
 
นี้ก็เป็นการทำทานในพระพุทธศาสนาของเรา ซึ่งได้บุญได้กุศลกันเยอะๆ ทั้งชาตินี้และติดตัวข้ามชาติกันทีเดียว

การทำทานในพระพุทธศาสนา มีวัตถุประสงค์อย่างไร และทำได้กี่ประเภท

 

                                                      โอวาทธรรมะ หลวงปูููููู่แหวน  สุจิณโณ

                        รรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งมนุษย์ เทวดา ถูกไฟ 11 กองเผาเสมอ เป็นเหตุให้ได้รับความทุกข์นานาประการ คือ
          ไฟราคะ........ความกำหนัดชอบใจ    ไฟโทสะ........ความโกรธไม่พอใจ    ไฟโมหะ........ความลุ่มหลง ลังเลใจ  ใจฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์
           ชาติ........ไฟแห่งความเกิดอันเป็นทุกข์       ชรา........ไฟแห่งความแก๋อันเป็นทุกข์       มรณะ........ไฟแห่งความตายอันเป็นทุกข์     โสกะ........ไฟแห่งความเศร้าโศก    ปริเทวะ........ไฟบ่นเพ้อร่ำไรรำพัน     ทุกขัง........ไฟแห่งความทุกข์ลำบากกายใจ      โทมนัส........ไฟแห่งความเสียใจ       อุปายโส........ไฟแห่งความคับแค้นใจ
            ไฟทั้ง11 กองนี้แหละ ที่เผาลนสรรพสัตว์ทั้งหลาย  ให้ต้องพากันงมงายเวียนว่ายตายเกิด  ได้รับทุกข์ต่างๆ
                                                                                   
                                                                                                            โอวาทธรรมะ    หลวงปู่สิม  พุทธาจาโร
              พระพุทธเจ้าท่านจึงให้...ปล่อยวาง    อย่าไปยึดถือตัวกูของกู ตัวเราของเรา มันเป็นเพียงสมมติให้เป็ฯตัวเราของเราเท่านั้น   ธาตุแท้ไม่ได้เป็นของใคร  เมื่อมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น มันก็เกิดขึ้น  เมื่อหมดเหตุปัจจัย...มันไปไหน   ก็ละลายลงไปสู่พื้นดิน ธาตุดินก็ไปสู่ธาตุดิน ธาตุน้ำก็ไหลไปสู่ธาตุน้ำ ไหลไปในอากาศ  ธาตุลมก็ไปกับลม ธาตุไฟความร้อนความอบอุ่นมันก็ไปตามไฟ  ธาตุเหล่านี้เมื่อเขาไหลเข้าไปอยู่ในสภาพของเขา เขาก็ไม่มีความทุกข์ความเดือดร้อนอย่างไร  เพราะธาตุดินน้ำไฟลมเป็นธรรมชาติของโลก  ประจำวัฏฏสงสารอันนี้มานับไม่ถ้วนแล้ว  มาถึงพวกเราภาวนาจะต้องให้รู้เข้าใจ    จิตมายึดมาถือความทุกข์ความเวทนานี้เป็นความหลง
    
                                                                                                           โอวาทธรรมะ       ท่านพ่อลี ธัมมธโร
               คนบางคนที่มีปัญญาฉลาดหลักแหลม สามารถจะอธิบายข้ออรรถข้อธรรมได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง  แต่กิเลสเพียงหยาบๆอันเป็นคู่ปรับแห่งศีล แค่นี้ยังละกันไม่ค่อยจะออก นี้เป็นเพราะขาดความสมบูรณ์  แห่งศีล สมาธิ ปัญญา กระมังจึงได้เป็นอย่างนี้   ศีล...ก็คงเป็นศีลอย่างเปลือกๆ   สมาธิ...ก็คงเป็นสมาธิอย่างเปื้อนเปรอะ  ปัญญา...ก็คงเป็นปัญญาอย่างละเลือน   เคลือบเอาเสมอเหมือนกับดวงกระจกที่ทาด้วยปรอท  จึงไม่สามารถเป็นเหตุให้สำเร็จความมุ่งหวังของพุทธบริษัทได้ ตกอยู่ในลักษณะที่คมนอกฝัก คือฉลาดในเชิงพูด เชิงคิด แต่ดวงจิตไม่มีสมาธิ นี้เรียกว่า...คมนอกฝัก...

                                                                                                             โอวาทธรรมะ      หลวงปู่ขาว อนาลโย
               การปฏิบัติธรรมนั้น ไม่มีโทษ มีแต่คุณ คือ จิตไม่ขุ่นมัว จิตผ่องใส จิตเบิกบาน จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็มีความสุข ไม่มีความทุกข์  จะเข้าสู่สังคมใดๆก็องอาจกล้าหาญ การทำความเพียร...เมื่อสมาธิเกิดมีขึ้นแล้วจะไม่มีความหวั่นไหว ไม่มีความเกียจคร้านต่อการงาน ทั้งทางโลก ทางธรรม  จากนั้นก็เป็นปัญญาที่จะมาเป็นกำลัง  เมื่อปัญญาเกิดขึ้นแล้ว รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์  จะเรียนทางโลกก็สำเร็จ  จะทำการทางธรรมก็สำเร็จ พระพุทธเจ้าท่านจึงสั่งสอนอบรมเบื้องต้นตั้งแต่ศีล ศีลเป็นที่ตั้งของสมาธิ สมาธิเป็นที่ตั้งของปัญญา ไม่ว่าศีล สมาธิ ปัญญา เป็นทางมาแห่งวิมุตติ คือ ความหลุดพ้น

                                                                                                            โอวาทธรรมะ     หลวงปู่คำดี ปภาโส

                การปฏิบัติศีล ธรรม ต้องมีเหตุมีผล เหตุดี...ผลดีก็ดี   ถ้าเหตุร้าย...ผลก็ร้าย   ทีนี้การปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนาก็คล้ายคลึงกัน  ถ้าเราอยากเป็นคนมีเงินทอง  อยากร่ำรวยเหมือนเขา  อยากมีร่างกายสวยเหมือนเขา  อยากมีลาภและยศเหมือนเขา  เราจะไปปฏิบัติตรงไหน  พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ปฏิบัติกาย วาจา ใจ  ถ้ากายของเราดี วาจาของเราดี จิตใจของเราดี ได้ลาภมาก็มากและใหญ่ด้วย ยศก็ใหญ่ได้  อะไรมาก็มีแต่ของดีทั้งนั้น  ถ้ากายวาจาใจดีแล้ว   เมื่อกายวาจาใจของเราเป็นบาปแล้ว  ได้อะไรมา...ก็เป็นของไม่ดีทั้งนั้น

                                                                                                            โอวาทธรรมะ         หลวงปู่เหรียญ  วรลาโภ

                เมื่อบุคคลใดฝึกจิตนี้ให้มั่น  อยู่ในศีล อยู่ในสมาธิ  อยู่ในปัญญาเต็มที่แล้ว  ย่อมไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรมแปดประการ ฉันนั้น  คือ เมื่อมีลาภ มียศ มีสรรเสริญ  และมีความสุขกายสบายใจ   ก็ไม่เพลิดเพลินมัวเมาในลาภ  เป็นต้น  และเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ถูกทุกข์ครอบงำ  กายและจิตก็ไม่หวั่นไหว  คือ  ไม่เศร้าโศกเสียใจ  ทั้งนี้ก็เพราะมีปัญญาเห็นแจ้งตามเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอนอะไรเลย  มีเกิดขึ้นแล้วแปรปรวนแตกดับไปเป็นธรรมดา  เหมือนกับเรือที่นายช่างต่อดีแล้ว  ย่อมไม่หวั่นไหวต่อคลื่น  ฉันนั้น

                                                                                                            โอวาทธรรมะ         หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย
                  การปฏิบัติ   สำคัญที่การรวมจิตเป็นใหญ่   เพราะพื้นฐานแห่งความดี ความชั่ว ย่อมเกิดที่จิต   ถ้าจิตตัวนี้ปราศจากสติ  เป็นเครื่องคุ้มครองหรือประคับประคองเมื่อใด  เมื่อนั้นจิตดวงนี้ก็จะต้องมีความเผลอไป นึกสร้างบาปกรรมใส่ตัวเลย  เพราะฉะนั้นการอบรมจิตให้มีสติ จึงเป็นสิ่งจำเป็น  ความทุกข์ทั้งหลายเกิดจากกิเลส  โลภะบ้าง   ราคะบ้าง   โทสะบ้าง   โมหะบ้าง  ถ้าต้องการมีความสุข  ต้องกำจัดกิเลสของตน กิเลสในใจตนเอง  ไม่ใช่ไปตั้งหน้ากำจัดกิเลสของคนอื่น

                                   ความสุขในท่ามกลางความทุกข์


                                    พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

           พุทธศาสนสุภาษิตที่แปลความว่า “ปัญญาเป็นเครื่องวินิจฉัยสิ่งที่ฟังแล้ว ปัญญา เป็นเครื่องเพิ่มพูนเกียรติคุณและชื่อเสียง คนผู้ประกอบด้วยปัญญาในโลกนี้ แม้ใน ความทุกข์ก็หาความสุขได้”
           พุทธศาสนสุภาษิตนี้แสดงถึงความสำคัญอย่างยิ่งของปัญญา “ปัญญาเป็นเครื่อง วินิจฉัยสิ่งที่ฟังแล้ว” ก็คือ เมื่อได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับผู้ใด เกี่ยวกับเรื่องใด เกี่ยวกับสิ่งใด เกี่ยวกับอะไร ต้องใช้ปัญญา คือพิจารณาด้วยเหตุผล จึงจะสามารถตัดสินได้ถูกว่ามีความจริงหรือไม่จริง คือมีความถูกต้องหรือไม่ถูกต้องเกี่ยวกับผู้นั้นเรื่องนั้นอย่างไร ตนเองควร เกี่ยวข้องกับผู้นั้นเรื่องนั้นอย่างไรหรือไม่ ผู้บอกเล่ามีเจตนาอย่างไรต่อผู้ถูกกล่าวถึง ต่อเรื่องราวที่นำมากล่าว และมีเจตนาอย่างไรต่อผู้ฟังเองด้วย อันเสียงบอกเล่าที่เกี่ยวกับอะไรก็ตาม เกี่ยวกับผู้ใดสิ่งใดก็ตาม จะเกิดผลแก่ผู้ฟังอย่างไรต้องมีปัญญาเป็นความสำคัญ ผู้บอกเล่า ย่อมจะบอกเล่าไปตามปัญญาของตนไปตามเจตนาของตน ตนเข้าใจอย่างไรบางที ก็บอกเล่าไปตามความเข้าใจ ซึ่งอาจมีทั้งเข้าใจถูกต้องและเข้าใจผิดพลาด การบอกเล่าจึง มีผิดถูกตามความเข้าใจด้วยเช่นกัน แต่บางทีก็มีเจตนาบิดเบือนบอกเล่าไปเสียอีกอย่างหนึ่ง ผู้ฟังจึงต้องอาศัยปัญญาของตนเป็นสำคัญ ต้องมีความฉลาดมีเหตุผลในการฟัง จึงจะได้ความเข้าใจในเรื่องราวที่ได้ฟังนั้นถูกต้อง และความเข้าใจที่ถูกต้องเท่านั้นที่จะสามารถนำให้ปฎิบัติได้ถูกต้องด้วย ถ้าเข้าใจผิดก็จักปฏิบัติผิดเป็นธรรมดา อันการปฏิบัติ ถูกเป็นความสำคัญ เพราะจะไม่ก่อให้เกิดโทษภัย ตรงกันข้าม การปฏิบัติผิดจะก่อให้เกิดโทษภัยได้ ปัญญาจึงสำคัญนัก
           “ปัญญาเป็นเครื่องเพิ่มพูนเกียรติคุณและชื่อเสียง” เมื่อปัญญานำให้ปฏิบัติถูก ไม่ว่าจะในเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญหรือไม่สำคัญก็ตาม ผลดีย่อมเกิดตามความปฏิบัติถูกนั้น ดังที่กล่าวว่าเป็นเครื่องเพิ่มพูนเกียรติคุณและชื่อเสียง อันการเสียชื่อเสียงของผู้นั้น ผู้นี้ก็เป็นที่ปรากฎแล้วว่าเกิดจากความขาดปัญญา หรือปัญญาไม่ขาดแต่ประมาทปัญญา คือปัญญามีอยู่แต่มิได้นำออกใช้ ไปหลงเชื่อปัญญาผู้อื่น ไปเชื่อว่าคนนั้นคนนี้รู้ดีรู้จริงแล้ว ก็เชื่อไปตามที่เขาบอกว่ารู้ ไปเชื่อว่าคนนั้นคนนี้เป็นคนดีมีปัญญาน่าจะเชื่อความคิดเห็น ของเขาได้ แล้วก็เชื่อ ไปเชื่อว่าคนนั้นคนนี้เรารู้จักมานานแต่ครั้งปูย่าตายาย แล้วก็เชื่อเขา
เชื่อไปโดยไม่ใช้ปัญญาของตนเอง ถ้าบังเอิญเป็นเรื่องดี ได้ผลดี ก็พอใช้ได้ พอผ่านไปด้วย ดี แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ความบังเอิญไม่ใช่ความแน่นอน ผู้มีปัญญาไม่พึงยินดีในความบังเอิญ ผู้มีปัญญาพึงยินดีในความถูกต้อง อันให้ผลแน่นอนตามเหตุเท่านั้น อันปัญญานั้น ต้องได้รับความยกย่องจากเจ้าตัวต้องไม่ประมาท ประมาทปัญญาก็เช่นเดียวกับดูถูก ปัญญาของตัวนั่นเอง เมื่อไปเชื่อปัญญาคนอื่นโดยไม่คำนึงถึงปัญญาของตัวเอง ก็เท่ากับดู ถูกปัญญาของตัวนั่นเอง ไม่ว่าจะทำสิ่งใด ทั้งด้วยกาย วาจา ใจ ปัญญาเป็นความจำเป็น อย่าประมาทปัญญาทั้งในการคิด ในการพูด ในการทำ นั่นก็คือก่อนจะคิดก่อนจะพูดก่อนจะทำ ต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญให้รอบคอบว่าคิดพูดทำเช่นนั้นแล้ว จะเกิดผลดีหรือผลเสีย แม้ในการให้ ซึ่งน่าจะเป็นการดี ก็ยังต้องไม่ประมาทปัญญา ต้องรู้จักใช้ปัญญาในการให้ มีเหตุผลว่าควรจะให้อะไรแก่ผู้ใดเพียงไร ไม่เช่นนั้น การให้ ซึ่งน่าจะเป็นการดี ก็ยังอาจ เป็นความไม่ดีไปได้ การให้ความเชื่อเป็นสิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่ง จึงอย่าให้ความเชื่อ แก่ผู้ใด หรือแก่เรื่องใด อย่างไม่ใช้ปัญญา ไม่พิจารณาเหตุผล แม้แต่การทำบุญ ซึ่งน่าจะ มีผลดีสถานเดียว ก็ยังเกิดผลไม่ดีได้ถ้าผู้ทำไม่ใช้ปัญญา ความไม่ใช้ปัญญาในการให้หรือ ในการทำบุญย่อมก่อความเดือดร้อนได้ บางทีก็มีเตือนว่าอย่ายื่นอาวุธให้โจร ซึ่งมีความ หมายลึกซึ้งกว่า อย่าส่งปืนผาหน้าไม้ให้โจรจริงๆ “คนผู้ประกอบด้วยปัญญาในโลกนี้ แม้ ในความทุกข์ก็หาความสุขได้” นี่ยิ่งแสดงให้เห็นความสำคัญที่สุดของปัญญา ความสุขเป็น ยอดปรารถนาของมนุษย์ทั้งปวง แต่ความสุขก็เป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับผู้มี ปัญญาน้อย หรือผู้ไม่มีปัญญา แต่ผู้มีปัญญาสามารถหาความสุขได้ สามารถมีความสุขแม้ ขณะอยู่ในท่ามกลางของความทุกข์ด้วยเพราะปัญญาเลิศล้ำ พระพุทธเจ้าทรงพบบรมสุข ทรงเสวยบรมสุข ในท่ามกลางความทุกข์มากมายหนักนักหนาของผู้คนที่แวดล้อม ด้วย พระปัญญาทำให้ทรงเห็นโทษของกิเลสตัณหา สามารถหนีพ้น มิต้องหลงพบความทุกข์ทั้ง ๆ ที่ทรงอยู่ในความทุกข์ท่วมท้นของคนไม่มีปัญญาทั้งหลาย ปัญญามีความสำคัญถึงเพียง นี้จริง จึงควรอบรมปัญญากันให้อย่างยิ่ง และการเจริญของปัญญานั้นจำเป็นต้องมีจิตใจที่ สงบ ไม่เอนเอียงด้วยอำนาจของอคติ พยายามทำใจให้เป็นกลางอยู่กับจุดใดจุดหนึ่ง เช่น พุทโธ ใจที่อยู่กับพุทโธมากเท่าไร จะสงบมากเท่านั้น ปัญญาจะเกิดได้โดยควรแก่ความสงบของใจ เป็นบุญยิ่งใหญ่ เป็นเหตุแห่งความสุขในท่ามกลางความทุกข์

                                                              อย่าทำผิดทั้งชีวิต

สมัยนี้มีผู้ชอบกล่าวว่า เงินไม่มีเกียรติไม่มี นั่นไม่ใช่ความถูกต้อง เป็นความรู้สึกของคนบางคนเท่านั้น คนบางคนที่มีความเห็นผิดเป็นชอบ เท่านั้นที่จะมีความรู้สึกว่า คนไม่มีเงินเป็นคนไม่มีเกียรติ เงินกับเกียรติมิใช่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มิใช่เป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ คนไม่มีเงินแต่มีเกียรติก็มีอยู่ คนมีเงินแต่ไม่มีเกียรติก็มีอยู่ ความสำคัญอยู่ที่ว่า เงินที่มีหรือที่ได้นั้นเป็นเงินที่จะทำให้เกียรติยศชื่อเสียงสิ้นไปหมดหรือ ไม่ ควรจะพิจารณาให้รอบคอบในเรื่องนี้ โดยเฉพาะผู้ที่ยังคำนึงถึงชื่อเสียงเกียรติยศของตนเอง และของวงศ์ตระกูล

ชื่อเสียงเกียรติยศเป็นสิ่งมีค่ายิ่ง ควรถนอมรักษาไว้ ควรแลกได้แม้กับทรัพย์สินจำนวนมาก เสียงภายในใจบอกว่าไหนๆ ก็โลภ จนเสื่อมเสียไปแล้ว ไม่มีประโยชน์ที่จะมาเสียใจ ไม่มีประโยชน์ที่จะคิดแก้ไข ไม่อาจทำให้ชื่อเสียงเกียรติยศกลับคืนดีได้แล้ว สู้หาลาภผลต่อไปดีกว่า อย่างน้อยก็ยังมั่งมีเป็นเศรษฐี ไม่มีใครกล้ามาชี้หน้าได้ตรงๆ ว่าโกงว่ากิน

เมื่อเสียงในใจดังขึ้นเพื่อฉุดกระชาก ไปในทางผิดต่อไปเช่นนี้ สติที่เกิดขึ้นทัน จะทำให้คิดตอบแก้ได้ว่าไม่ถูก คิดเช่นนั้นไม่ถูก ชื่อเสียงเกียรติยศที่เสียไปแล้วก็เป็นส่วนที่เสียไป แต่ถ้ากลับมากระทำความดี ละความชั่วความผิดแต่เดิมเสีย เช่น ไม่โลภ ไม่โกงต่อไป ก็จะสามารถสร้างชื่อเสียงเกียรติยศใหม่ขึ้นได้ ตัวอย่างก็มีอยู่ คนที่กลับตัวกลับใจได้ แม้จะมีผู้รู้อดีตที่ผิดที่ชั่วก็จะไม่นำมากล่าวถึงอย่างตำหนิติเตียน แต่มักจะนำมายกย่องสรรเสริญว่าเป็นคนดีที่กลับตัวกลับใจได้ ไม่ทำผิดทำชั่วไปตลอดชีวิต เป็นคำยกย่องสรรเสริญที่จะทำให้ผู้ได้รับภาคภูมิใจ เกิดปีติยินดีและเกิดกำลังใจ เชื่อมั่นว่าแม้จะได้ทำผิดไปแล้วเพียงใด ต้องเสื่อมเสียชื่อ เสียงเกียรติยศไปแล้วเพียงไหน ก็ควรกลับใจ ละความไม่ดี มาทำความดี เช่น ละความโลภที่รุนแรง จนทำให้แสวงหาโดยมิชอบ มาทำความโลภให้ลดน้อยลง ตามลำดับ ด้วยการพยายามดับความปรารถนาต้องการให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ซึ่งควรจะต้องกระทำถึง ๒ วิธี คือ ไม่ดิ้นรนแสวงหา และสละสิ่งที่แสวงหามาไว้แล้วให้เป็นทาน ทั้ง ๒ วิธีนี้ต้องทำให้สม่ำเสมอให้เป็นนิสัย จึงจะเห็นผลคือเห็นความโลภลดลงจนถึงหมดสิ้นไปได้ในวาระหนึ่ง


ที่จริง จิตใจเวลามีความปรารถนาต้องการ กับเวลาไม่มีความปรารถนาต้องการนั้นแตกต่างกันมาก จิตใจยามมีความโลภหรือความปรารถนาต้องการนั้นไม่ได้มีความสุข มีแต่ความร้อน ความตื่นเต้นกระวนกระวายขวนขวายเพื่อให้ได้สมปรารถนา จิตใจยามไม่มีความปรารถนาต้องการนั้นมีความสุข อย่างยิ่ง เห็นจะต้องเปรียบง่ายๆ คือ ในยามหลับกับในยามตื่น ยามหลับไม่มี ความปรารถนาต้องการ ยามตื่นมีความปรารถนาต้องการ ทุกคนเหมือนกันไม่มียกเว้น ยามไหนเป็นยามสบายที่สุด ทุกคนตอบได้และคำตอบทุกคนเหมือนกัน

คนที่หลับแล้ว สงบแล้วจากความปรารถนาต้องการไม่ว่าจะหลับบนฟูก อันอ่อนนุ่มในคฤหาสน์ใหญ่โตมโหฬารหรูหราเพียงใด หรือจะหลับอยู่บนดินบนทรายแข็งระคายเพียงไหน ย่อมเป็นสุข เพราะจิตใจพ้นจากอำนาจของความปรารถนาต้องการที่เป็นเหตุแห่งความทุกข์ความ ร้อน

ทุกคนต้องการความสุขความสบายใจด้วยกันทั้งนั้น แต่ทุกคนก็ยังไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการ เพราะใจยังมีความปรารถนาต้องการหรือความโลภนี้แหละอยู่เป็นอันมาก โดยที่ไม่พยายามทำให้ลดน้อยลง เห็นจะด้วยมิได้คิดให้ประจักษ์ในความจริงว่า ความโลภคือเหตุใหญ่ประการหนึ่ง ซึ่งนำให้ความทุกข์ให้ร้อน ให้ไม่มีความสุขความสบายใจกันอยู่อย่างมากทั่วไปในทุกวันนี้ แม้ทำสติพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ไม่ยากนัก ว่าความทุกข์ความร้อนที่มีมาแต่ไหนๆ และดูเหมือนจะยิ่งเพิ่มขึ้นในปัจจุบันนี้ เกิดจากความโลภหรือความปรารถนาต้องการเป็นสำคัญ


ความมีหรือความได้มาโดยมิชอบทำให้ความร้อนใจจริงโดยเฉพาะผู้ที่ยังพอ รู้จักบาปบุญคุณโทษแล้ว แม้จะพยายามปกปิดหลอกคนอื่นอย่างไร ก็ปกปิดหลอกตนเองไม่ได้ ก็จะต้องเดือดร้อนเพราะความรู้จักผิดชอบของตนเองแน่นอน ความรู้จักผิดชอบเกิดขึ้นเมื่อใด จะทำให้ผู้ที่ได้อะไรๆ ไปโดยมิชอบ โดยผิดศีลธรรม ต้องเร่าร้อน และความรู้สึกผิดชอบจะต้องเกิดขึ้นแก่ทุกคน ไม่วันใดก็วันหนึ่ง อาจจะเมื่อใกล้ตายหรืออาจจะก่อนหน้านั้น จะทำความทรมานใจให้เป็นอันมาก

เพราะทุกคนแม้จะทำลืมไม่สนใจเรื่องผลของกรรม แต่จะมีวันหนึ่งที่จะทำลืมไม่สำเร็จ น่าจะเป็นวันที่นึกถึงความตายได้อย่างมีสติและปัญญาว่าจะต้องมาถึงตนในวัน หนึ่งแน่นอน หนีไม่พ้น วันนั้นแหละอำนาจความโลภหรือความปรารถนาต้องการที่ทำให้แสวงหาสมบัติโดยมิ ชอบในอดีต จะปรากฏเป็นโทษแก่จิตใจอย่างรุนแรงยิ่งกว่าเวลาอื่น ควรจะกลัว เพราะย่อมเป็นสิ่งน่ากลัวอย่างยิ่งจริงๆ ควรจะเชื่อไว้ก่อนที่วันนั้นจะมาถึง เพื่อว่าจะได้ยอมเชื่อว่าไม่ควรจะปล่อยให้ความโลภหรือความปรารถนาต้องการมี อำนาจชักจูงใจให้ทำสิ่งอันมิชอบ ที่จะก่อความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่น เพราะความเดือดร้อนนั้นจะเกิดแก่ตนเองด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน การกระทำทุกอย่างมีผล กรรมดีให้ผลดี กรรมชั่วให้ผลชั่ว ผู้ใดทำกรรมใด ไว้จักได้รับผลของกรรมนั้น การกระทำ ไปตามอำนาจความโลภหรือความปรารถนาต้องการ เป็นกรรมชั่ว ผลจึงต้องชั่ว.

ที่มา: "อย่าทำผิดทั้งชีวิต" บทพระนิพนธ์ โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

                                                      ความมุ่งหมายของการฟังธรรม

   

ความมุ่งหมายของการฟังธรรม

ความมุ่งหมายของการฟังธรรมนั้น มีอยู่ ๕ ประการ คือ

  • ฟังธรรมเอาบุญ
  • ฟังธรรมเอาความรู้
  • ฟังธรรมเพื่อเป็นอุปนิสัย
  • ฟังธรรมเพื่อปฏิบัติ
  • ฟังธรรมเพื่ออุทิศส่วนบุญ
๑.       ฟังธรรมเอาบุญ หมายความว่า ฟังธรรมแล้วได้บุญ บุญแปลว่า ชำระ คือ ชำระกายวาจาใจให้สะอาด เพราะกายวาจาใจของคนเราเปื้อนบาป จึงจำเป็นต้องชำระด้วยน้ำ คือ บุญ ดุจชำระเสื้อผ้าที่สกปรกด้วยผงซักฟอกฉะนั้น บาปนั้นมีอยู่ ๓ ขั้น คือ บาปอย่างหยาบ ๑ บาปอย่างกลาง ๑ บาปอย่างละเอียด ๑

บาปอย่างหยาบ คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ล่วงออกมาทางกาย เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี และล่วงออกมาทางวาจา เช่น พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ เป็นต้น ต้องชำระด้วยบุญขั้นต้นคือ ศีล

บาปอย่างกลาง คือ นิวรณ์ทั้ง ๕ ได้แก่ กามฉันทะ พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๑ พยาบาท ใจโกรธ ใจขุ่น ๑ ถีนมิทธะ ง่วงเหงาหาวนอน ๑ อุทธัจจะกุกกุจจะ ฟุ้งซ่านรำคาญ ๑ วิจิกิจฉา สงสัยลังเลใจ ๑ บาปทั้ง ๕ นี้ ต้องชำระด้วยบุญอย่างกลาง คือ สมาธิ

บาปอย่างละเอียด คือ อนุสัย ได้แก่กิเลสที่นอนดองอยู่ในใจ ดุจขี้ตะกอนอยู่ก้นตุ่มฉะนั้น มีอยู่ ๑๒ ตัว คือโลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒ อันเป็นส่วนละเอียดติดมาแต่ภพก่อนชาติก่อน ต้องชำระด้วยบุญขั้นละเอียด คือ วิปัสสนาปัญญา

ในขณะที่ท่านทั้งหลายกำลังฟังธรรมอยู่ในขณะนี้ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ ของแต่ละท่านก็บริสุทธิ์เพราะอำนาจแห่งศีล ศีลแปลว่ารักษากายวาจาให้เรียบร้อย ศีลนี่แหละเป็นบุญขั้นต้น เป็นที่พึ่งเบื้องต้น เป็นแม่ของคุณงามความดีทั้งหลาย และเป็นประมุขของกุศลธรรมทั้งปวง จะฟังรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่องก็ตาม ถ้าตั้งใจฟังแล้วได้บุญทั้งนั้น เพราะจิตดวงนี้เป็นมหากุศล ถ้าตายลงในขณะนี้ก็มีผลให้ไปมนุษย์ก็ได้ ไปเกิดสวรรค์ก็ได้ เช่น แม่ไก่ฟังธรรมถูกฆ่าตาย ได้ไปเกิดเป็นพระราชธิดา กบฟังธรรมถูกฆ่าตายได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรชื่อว่า มัณฑูกเทพบุตร ค้างคาว ๕๐๐ ตัว ฟังพระอภิธรรม ตายแล้วได้ไปเกิดในสวรรค์ ผลสุดท้ายได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ได้ออกบวชเป็นพระ ได้ฟังพระอภิธรรม ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด อย่างนี้เรียกว่า ฟังเอาบุญ

๒.     ฟังธรรมเอาความรู้ หมายความว่า ฟังแล้วต้องจำได้ ใครจำได้มากเท่าไร ก็เป็นความรู้ของคนนั้น ถ้าจำไม่ได้ต้องจดไว้ บันทึกไว้ หรืออัดใส่เทปไว้ เปิดฟังบ่อยๆ ฟังจนจำได้ สมดังคำโบราณท่านสอนลูกหลานไว้ว่า “เห็นแล้วจดไว้ ทำให้แม่นยำ เหมือนทราบแล้วจำ ไว้ได้ทั้งมวล เมื่อหลงลืมไป จักได้สอบสวน คงไม่แปรปรวน จากที่จดลง”

๓.      ฟังธรรมเพื่อเป็นอุปนิสัย หมายความว่า ในขณะที่ฟังอยู่นั้น ได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง มีเสียงอื่นรบกวน ทำให้หนวกหูบ้าง ง่วงนอนบ้าง กำลังทำกิจอย่างอื่น เช่น ล้างถ้วยล้างชามบ้าง โขลกหมากบ้าง ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นบุญอยู่ ตัวอย่าง ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ งูเหลือมตัวหนึ่งได้ยินเสียงพระนักอภิธรรมกำลังท่องอายตนะกถาอยู่ ถือเอานิมิตในเสียงนั้น ตายแล้วได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อพระพุทธเจ้าของเราปรินิพพานแล้ว ได้มาบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ออกบวชเป็นอาชีวกชื่อว่า ชนะโสณะ ได้ฟังธรรมย่อๆในหัวข้อว่า "อายตนะ" จากพระอุปคุตตเถระ ก็เกิดความเลื่อมใสอย่างแก่กล้า ขอบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา เรียนพระกรรมฐาน เจริญวิปัสสนา จนได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระอรหันต์

๔.      ฟังธรรมเพื่อปฏิบัติ หมายความได้ ๒ อย่าง คือ ฟังแล้วจำไว้ มีโอกาสเมื่อใดก็นำไปปฏิบัติได้เมื่อนั้น นี้อย่างหนึ่ง ถ้าเป็นนักปฏิบัติวิปัสสนา สามารถฟังไปปฏิบัติไปพร้อมกันได้เลย เพราะในขณะที่ได้ยินเสียงพระแสดงธรรมอยู่นั้น ขันธ์ ๕ เกิดแล้ว อารมณ์ของวิปัสสนาเกิดแล้ว คือเสียงกับหูเป็นรูปขันธ์ ได้ยินเสียงธรรมะแล้วสบายใจ เป็นเวทนาขันธ์ จำได้เป็นสัญญาขันธ์ แต่งให้เห็นว่าดีหรือไม่ดีเป็นสังขารขันธ์ ได้ยินเป็นวิญญาณขันธ์ ย่อให้สั้นๆก็ได้แก่รูปกับนาม รูปนามนี้แหละเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ดังนั้น นักปฏิบัติวิปัสสนาจึงลงมือปฏิบัติได้ทันที โดยตั้งสติไว้ที่หู ตัวอย่าง พาหิยะทารุจีริยะ ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าที่ตรัสว่า "ได้ยินก็สักว่าแค่ได้ยิน" ไม่ช้าท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

๕.     ฟังธรรมเพื่ออุทิศส่วนบุญ หมายความว่า เราตั้งใจฟังธรรมได้บุญแล้ว ก็อุทิศส่วนบุญนั้นให้แก่ บิดามารดา ครู อาจารย์ ท่านผู้มีบุญคุณ ท่านผู้มีพระคุณ.

ที่มา พระธรรมเทศนาอริยธนกถา โดย พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ กรุงเทพมหานคร ๒๕๒๔, อนุสรณ์ คุณหญิงเจือ นครราชเสนี